“นครปฐม” เป็นอู่อารยธรรมสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า
เมืองนครปฐมแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ริมทะเลเป็นเมืองเก่าแก่
มีความเจริญรุ่งเรืองมานับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิและเป็นราชธานีสำคัญในสมัยทวารวดี
ในยุคนั้นนครปฐมเป็นแหล่งเผยแพร่อารยธรรมจากประเทศอินเดีย
ซึ่งรวมทั้งพุทธศาสนา
นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ
มีชนชาติต่างๆ
อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก
ต่อมาได้เกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองนครปฐม
เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง
ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมน้ำ
และสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ
“เมืองนครไชยศรี” หรือ
“ศรีวิชัย” นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะที่ทรงยังผนวชได้ธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์
และทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ไม่มีที่ใดเทียบเท่า
ครั้นเมื่อได้ครองราชย์จึงโปรดฯให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบองค์เดิมไว้
โดยให้ชื่อว่า
“พระปฐมเจดีย์” ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ
ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี
และโปรดฯ
ให้ขุดคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้การเสด็จมานมัสการสะดวกขึ้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านเมืองนครปฐม
ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารก
พระองค์จึงโปรดฯ
ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา
อำเภอนครชัยศรี
มาตั้งที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์เหมือนเช่นครั้งสมัยโบราณ ครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐานและฝึกซ้อมรบแบบเสือป่า
โดยโปรดฯ
ให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย
รวมทั้งสร้างสะพานเจริญศรัทธาข้ามคลองเจดีย์บูชาเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟกับองค์พระปฐมเจดีย์
ตลอดจนสร้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์และบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ให้สมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
และได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจากเมือง
“นครไชยศรี” เป็น
“นครปฐม”
คําขวัญประจําจังหวัดนครปฐม
ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี
พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน